}

เวลาทำการ วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 17.30-20.30น. วันเสาร์ เวลา 09.00-12.00น.

คลินิกหมอกิตติพันธุ์-หมออมราภรณ์ ติดต่อเรา

ความรู้โรคต่างๆ

คลินิกหมอกิตติพันธุ์-หมออมราภรณ์ รักษาโรคหวัด โรคหู ภูมิแพ้ ไซนัส โรคเส้นเลือดขอด แผลเรื้อรัง ทำเส้นฟอกไต ทำเส้นให้ยาเคมีบำบัด พอร์ตเคมีบำบัด ซ่อมเส้นฟอกไต

การทำเส้นฟอกไต

การผ่าตัดทำเส้นเลือดฟอกไตหรือเส้นล้างไตที่เรียกว่า AVF (arteriovenous fistula) แปลว่าอะไร

           เป็นการผ่าตัดเปิดแผลขนาดเล็กที่แขนเพื่อหาหลอดเลือดแดงและดำ หลังจากนั้นจะทำทางเชื่อมติดต่อกัน ระหว่างหลอด เลือดแดงไปยังหลอดเลือดดำแล้วเส้นเลือดดำก็จะโป่งพองเหมาะสำหรับใช้ฟอกไต 
 

ทำไมต้องผ่าตัดทำเส้นฟอกไต

การฟอกไตเป็นการล้างของเสียในร่างกายโดย ใช้เครื่องฟอกไตแทนไตที่เสียไปแล้ว การทำเส้นจะเป็น การทำให้ใส่เข็ม ล้างไตได้ง่ายขึ้น วิธีนี้เป็นวิธีดที่ี่สุดในกระบวนการล้างไต ท่านจะไม่จำเป็นต้องมีสายคาอยู่ที่ี่คอ หรือที่ขาเพื่อใช้ในการล้างไต นอกจาก จะไม่สะดวกแล้ว ยังเจ็บแผลและเสี่ยงต่อการติดเชื้ออีกด้วย

  

ภาวะแทรกซ้อนของการผ่าตัดทำเส้น มีดังนี้

เกิดเลือดคั่งบริเวณที่ผ่าตัด ดังนั้นในระหว่างที่ท่านกลับไปอยู่บ้านแล้ว
มีเลือดออกมาก กรุณามาพบแพทย์ทันที

– เส้นที่ต่อไว้อาจอุดตันได้จากการมีก้อนเลือด
– แผลผ่าตัดติดเชื้อ
– อาการขาดเลือดไปเลี้ยงที่มือซึ่งเกิดได้ไม่บ่อย
– ปัญหาจากการดมยาสลบหรือยาชา

           สิ่งที่ผู้ป่วยคำนึงถึงเสมอคือความสำเร็จของการทำเส้นล้างไตนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่ คุณภาพของหลอดเลือดแดง หลอดเลือดดำ การออกกำลังของมือและความเข้มข้นของเลือด ดังนั้นการผ่าตัดทำเส้นอาจจะ ไม่สำเร็จในการทำครั้งเดียว
 

เส้นเทียม คืออะไร

           บางครั้งเมื่อท่านไม่มีหลอดเลือดดำที่ดีในการทำเส้นแล้วอาจจะใช้หลอดเลือดเทียม (ท่อพลาสติกสังเคราะห์) มาแทนได้เป็นที่ทราบกันมานานแล้วว่า การใช้หลอดเลือดดำของผู้ป่วยเองดีที่สุด เพราะโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่ามาก เมื่อเทียบกับหลอดเลือดเทียมและที่สำคัญหลอดเลือดเทียมมีราคาแพง ดังนั้น ศัลยแพทย์จึงสงวนไว้ใช้ในรายที่ไม่มีหลอดเลือดดำจริงๆ

การผ่าตัดนี้ปวดไหม

           ในการผ่าตัดของเราจะมีวิสัญญีแพทย์มาร่วมช่วยให้ท่านผ่านการผ่าตัดอย่างมีอาการเจ็บปวดน้อยที่สุด และเฝ้าดูอาการของท่านอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การผ่าตัดปลอดภัยมากที่สุด
                              
  การคลำชีพจร เส้นเลือดแดงที่ข้อมือ                           การคลำการไหลของเลือดในเส้นเลือดที่ผ่าตัด

ต้องเตรียมตัวอะไรบ้างในการผ่าตัด

           – แพทย์จะทำการตรวจความแข็งแรงสมบูรณ์ของท่านก่อนผ่าตัด โดยต้องตรวจเลือด,เอกซเรย์ปอด,คลื่นไฟฟ้าหัวใจ
           – งดอาหารอย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนผ่า ยกเว้นยาที่รับประทานประจำ
           – ในบางรายแพทย์จะใช้เครื่องอัลตราซาวด์ช่วยในการตรวจหาหลอดเลือดก่อนผ่าตัด
           – ห้ามลบรอยปากกาที่เขียนบนแขนของท่าน
           – ระมัดระวังไม่ให้แขนทั้งสองข้างถูกเข็มแทงหรือเจาเลือด
           – ผู้ป่วยต้องบอกแพทย์และทีมงามทุกครั้ง ถ้าผู้ป่วยกำลังรับประทานยาหรือฉีดยาละลายลิ่มเลือดอยู่
           – นำยาที่รับประทานเป็นประจำมาด้วยทุกครั้ง
           – ในกรณีฟอกไต ต้องฟอกไตก่อนผ่าตัด 1-2 วัน
 

หลังผ่าตัดท่านควรจะปฏิบัติตัวเช่นใด

           ขอให้ท่านสังเกตว่าเมื่อใช้มือคลำเลือดจะไหลดังฟู่ขึ้นภายในแขนบริเวณแผลผ่าตัด นั่นแสดงว่า เส้นเลือดที่ต่อไว้ทำงานได้ดี แต่เมื่อใดที่ท่านคลำไม่ได้ท่านควรมติดต่อแพทย์ทันที
           การที่จะทำให้หลอดเลือดทำงานได้ดีขึ้นและ ใช้งานได้เร็วผู้ป่วยควรออกกำลังโดยการกำมือและ คลายมือบ่อยๆ (ประมาณ 400 ครั้งต่อวัน)โดยทั่วไปหลอดเลือดจะใช้งานได้ประมาณ 6-8 สัปดาห์
           เมื่อแพทย์อนุญาตให้ท่านออกจากโรงพยาบาลท่านควรมีญาติมารับเพราะช่วงหลังผ่าตัด ท่านอาจจะมีอาการอ่อนเพลียและง่วงนอนเล็กน้อย หลังจากออกโรงพยาบาลท่านจะต้องมาพบแพทย์อีกครั้งใน 2 สัปดาห์

อาการหรือความผิดปกติที่ต้องสังเกต

           1.แผลผ่าตัดบวม แดง ร้อน มีหนอง/มีไข้
           2.มีเลือดออกจากแผล
           3.คลำชีพจรที่มือไม่ได้
           4.คลำ ”ฟู่” บริเวณผ่าตัดไม่ได้
           5.มือข้างที่ผ่าตัดมีอาการชาหรือเย็น 

ถ้ามีอาการผิดปกติเหล่านี้มาตรวจก่อนนัดหรือติดต่อที่ 
คลินิกหมอกิตติพันธุ์-หมออมราภรณ์ 111/66  หมู่ 2 ต.หนองหอย   อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50000
โทรศัพท์คลินิก 053-413 066 โทรศัพท์มือถือ 085-866 8484
เพิ่มเพื่อน Line @kittipan.clinic
Email: [email protected]

ทำเส้นพอร์ต (port) ให้เคมีบำบัด

พอร์ต คืออะไร 

           เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ฝังใต้ผิวหนังสำหรับให้ยา สารน้ำ หรือเลือด นอกจากนี้ยังสามารถดูดเลือด       จากพอร์ตเพื่อส่งตรวจได้อีกด้วย อุปกรณ์ชนิดนี้มีใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน สำหรับให้ยาเคมีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็ง 

พอร์ตประกอบด้วย 2 ส่วน 

           ส่วนแรก คือ สายที่ใส่เข้าไปในหลอดเลือดดำ โดยส่วนมากมักจะใส่ที่หลอดเลือดบริเวณคอ หรือแขน ปลายสายจะสิ้นสุดที่ตำแหน่งทางเข้าสู่หัวใจ และส่วนที่สอง คือ พอร์ต มีลักษณะคล้ายตลับยาหม่องเป็นกระเปาะกลวง  จะต่ออยู่กับสายที่ใส่เข้าไปในหลอดเลือด ถูกฝังอยู่ใต้ผิวหนัง เป็นตำแหน่งที่ใช้สำหรับทำการแทงเข็มเพื่อให้ยาหรือสารละลายต่างๆ ไหลไปตามสายและเข้าสู่กระแสเลือด 
           พอร์ตทำจากวัสดุทนทานและไม่ระคายเคืองต่ออวัยวะมนุษย์  โดยพอร์ตที่ฝังอยู่จะสามารถใช้งานได้เป็นระยะเวลานาน วัสดุที่นำมาใช้ทำพอร์ต ได้แก่ พลาสติก สแตนเลส ไททาเนียม และซิลิโคน จึงมีน้ำหนักเบา มีความแข็งแรง ทนทานและยืดหยุ่นสูง ขนาดของพอร์ตที่ฝังขึ้นกับรูปร่างของผู้ป่วย ถ้าผู้ป่วยที่มีรูปร่างผอมหรือเป็นเด็ก ควรเลือกพอร์ตที่มีขนาดเล็ก
           อุปกรณ์ชนิดหนึ่งที่จำเป็นต้องใช้ควบคู่กับพอร์ท คือเข็มชนิดพิเศษ ที่มีความแตกต่างกับเข็มทั่วไป คือ จะมีลักษณะโค้งงอบริเวณส่วนปลาย เพื่อทำให้พอร์ตไม่เกิดการรั่วซึมของยา ออกมา และสามารถแทงเข็มซ้ำได้หลายพันครั้ง 

       

สาเหตุที่ต้องใส่พอร์ต

           เมื่อผู้ป่วยต้องได้รับยาเคมีบำบัด  แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยใส่พอร์ตเพื่อหลีกเลี่ยงการแทงเข็มให้ยาซ้ำๆหลายครั้งทางหลอดเลือดดำส่วนปลาย รวมทั้งช่วยให้การให้ยาทำได้ง่ายและปลอดภัยมากขึ้น เนื่องจากการให้ยาเคมีบำบัดเป็นระยะเวลานานผ่านทางหลอดเลือดดำส่วนปลายที่แขนหรือขาอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้ เช่น การเจ็บปวดเส้น เส้นไหม้จากภาวะหลอดเลือดดำอักเสบ (phlebitis) และยาเคมีบางชนิดมีคุณสมบัติทำลายเนื้อเยื่อสูงหากเกิดรั่วซึม ดังนั้นการใส่พอร์ตจะช่วยรักษาหลอดเลือดดำส่วนปลายมิให้ถูกทำลาย และช่วยให้ผู้ป่วยมีความสะดวกสบายในการให้ยามากขึ้น

    ประโยชน์ของการฝังพอร์ต

    – ลดจำนวนครั้งการแทงเข็มผ่านทางหลอดเลือดดำส่วนปลาย
    – สามารถให้ยาเคมีบำบัดได้ง่าย สะดวก และลดความเจ็บปวดใน
       การให้ยาผ่านทางหลอดเลือดดำ
    – สามารถให้การดูแลรักษาที่บ้านได้สะดวกขึ้น ไม่ทำให้เสียบุคลิก
      เนื่องจากพอร์ตถูกฝังอยู่ภายในร่างกาย ไม่มีสายระโยงระยาง
      ออกมา
    – ผู้ป่วยฝังพอร์ตสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้
      ตามปกติ 
    – เหมาะกับผู้ป่วยเด็ก และผู้สูงอายุที่เจาะเลือดหาเส้นยาก
      เส้นเลือดแข็งเปราะแตกง่าย

การใส่พอร์ต

   1. ก่อนทำการใส่พอร์ต หากผู้ป่วยเล่นกีฬาเป็นประจำ เช่น เทนนิส แบดมินตัน สควอช ยิงปืน ตีกอล์ฟ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบล่วงหน้า เพื่อที่แพทย์จะได้เลือกตำแหน่งที่จะทำการฝังพอร์ตให้เหมาะสมกับกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วย
   2. การใส่พอร์ตจะทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในห้องผ่าตัด และใช้ยาชาเฉพาะที่ การผ่าตัดใส่พอร์ตจะใช้เวลาประมาณ 30 นาที แพทย์จะใส่สายเข้าไปในหลอดเลือดดำและใส่พอร์ตที่ต่อกับสายบริเวณใต้ผิวหนัง โดยบริเวณที่ใส่พอร์ตจะมีขนาดเล็กประมาณ 2.5 เซนติเมตร เมื่อผ่าตัดเสร็จ แพทย์จะทำการปิดแผลไว้ และทำการ X-ray เพื่อดูตำแหน่งของสายก่อนที่ผู้ป่วยจะออกจากโรงพยาบาล
   3. หลังจากการผ่าตัดฝังพอร์ตเรียบร้อยแล้ว สามารถใช้งานพอร์ตได้ทันที และแผลที่ผ่าตัดจะหายภายใน 2-3 วัน พอร์ตที่อยู่ใต้ผิวหนังของผู้ป่วยจะนูนขึ้นมาเล็กน้อย สามารถมองเห็นและสามารถคลำได้ เมื่อแผลหายแล้ว ผู้ป่วยสามารถทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ อาบน้ำ ว่ายน้ำ และออกกำลังกายได้ตามปกติแต่หากหลังจากใส่พอร์ตแล้ว ผู้ป่วยมีอาการเจ็บหรือปวดบริเวณที่ใส่พอร์ต ให้รีบแจ้งแพทย์ทันที 

การใช้งานและการดูแลรักษาพอร์ต

การใช้งาน : 
   1. เมื่อต้องทำการให้ยาหรือสารละลายผ่านทางพอร์ต พยาบาลจะใช้เข็มชนิดพิเศษที่ใช้สำหรับแทงพอร์ต และทำการตรวจสอบการทำงานของพอร์ตก่อนให้ยาทุกครั้ง โดยดูจากการไหลย้อนกลับของเลือดและการทดลองฉีดน้ำเกลือ เมื่อผู้ป่วยต้องได้รับยาเคมีบำบัดเป็นระยะเวลาติดต่อกันหลายวัน จะใช้เข็มชนิดพิเศษแทงผ่านพอร์ตและคาเข็มไว้ แล้วปิดทับด้วยแผ่นปิดแผล โดยเข็มที่ใช้ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนใหม่ทุกวัน สามารถใช้ได้นานที่สุดเป็นระยะเวลา 7 วัน หรืออาจขึ้นอยู่กับแพทย์สั่ง
   2. การแทงเข็มผ่านทางพอร์ต โดยปกติผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บปวด แต่อาจใช้ยาชาเฉพาะที่ทาบริเวณที่จะแทงเข็มได้ เพื่อหลีกเลี่ยงอาการเจ็บปวดที่อาจเกิดขึ้น 
   3. หลังจากให้ยาหรือสารละลายเรียบร้อยแล้ว ต้องทำการล้างพอร์ตด้วยน้ำเกลือทุกครั้ง จากนั้นจึงถอนเข็มออก และปิดแผลด้วยพลาสเตอร์กันน้ำขนาดเล็กประมาณ 2-3 วันแล้วค่อยแกะออก

การดูแลรักษา :  

1. ตรวจสอบบริเวณที่ฝังพอร์ตทุกวันเพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีอาการปวด บวม หรือแดง 
2. หากพอร์ตไม่ได้ใช้งาน ควรทำการล้างพอร์ตด้วยน้ำเกลือและยาป้องกันการเกิดลิ่มเลือด ทุก 4-6 สัปดาห์ โดยแพทย์หรือพยาบาลผู้ชำนาญ เพื่อเป็นการดูแลรักษาให้พอร์ตยังสามารถใช้งานได้ต่อไป
3. การดูแลด้านสุขอนามัย 
– หากพอร์ตไม่ได้ใช้งานไม่จำเป็นต้องทำการปิดแผล
– หากมีการแทงเข็มผ่านทางพอร์ต ระวังอย่าให้บริเวณที่ทำการแทงเข็มเปียกน้ำ
–  หากพลาสเตอร์ปิดแผลสกปรกหรือหลุดออก ให้แจ้งพยาบาลเพื่อทำการเปลี่ยนแผ่นปิดแผลใหม่ เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อ ทั้งนี้การใช้งานและการดูแลรักษาพอร์ตทุกขั้นตอนต้องทำตามเทคนิคปราศจากเชื้อ เพื่อป้องกันการติดเชื้อของผู้ป่วย

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

ในกรณีที่ท่านได้รับการแทงพอร์ต เพื่อให้ยาเคมีบำบัดเป็นระยะเวลานานๆ อาจทำให้มีโอกาสเกิดการติดเชื้อเฉพาะที่ตำแหน่งฝังพอร์ตได้ และอาจติดเชื้อในกระแสเลือดได้สูง  ถ้าเข็มเลื่อนออกจากตัวพอร์ตขณะให้ยาอาจมีการรั่วซึมของยาออกมาคั่งอยู่ใต้ผิวหนังบริเวณรอบๆ ที่ตัวพอร์ทฝังอยู่ได้ ดังนั้นหากผู้ป่วยรู้สึกผิดปกติ หรือมีอาการดังต่อไปนี้ให้รีบแจ้งแพทย์ทันที       
 

    – มีไข้หนาวสั่น
   – ปวดบริเวณที่ทำการฝังพอร์ต
   – มีอาการบวมบริเวณที่ทำการฝังพอร์ต
   – มีอาการแดง มีของเหลวไหลออกบริเวณแผลที่ทำการฝังพอร์ต
   – รู้สึกหายใจลำบาก

คำถามที่พบบ่อย

Q : สามารถฝังพอร์ตได้ระยะเวลานานเท่าไหร่
แพทย์จะตัดสินใจว่าควรฝังพอร์ตเป็นระยะเวลานานเท่าไหร่ ส่วนมากมักจะฝังไว้จนกว่าจะสิ้นสุดการรักษาที่จำเป็นต้องใช้พอร์ต อย่างไรก็ตามถึงแม้พอร์ทจะเป็นสิ่งแปลกปลอมที่ฝังอยู่ในร่างกายของคน แต่วัสดุที่ใช้ทำมีคุณสมบัติพิเศษไม่ก่อให้เกิดการต่อต้าน ระคายเคืองจากเนื้อเยี่อของร่างกาย พอร์ตมีความทนทานต่อการแทงเข็มได้ 1000-3600 ครั้ง ขึ้นอยู่กับขนาดของเข็มที่ใช้แทง ดังนั้นพอร์ตจึงใส่ในร่างกายได้นานหลายปี แพทย์จะพิจารณาเอาพอร์ตออกเมื่อไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องใช้งานต่อไปแล้ว

Q : หากพอร์ตไม่ได้ใช้งานควรดูแลรักษาอย่างไร
แนะนำให้ล้างพอร์ตโดยการฉีดด้วยน้ำเกลือ(NaCl 0.9%) ผสมยาป้องกันเกิดลิ่มเลือด(heparin) ทุก 4-6 สัปดาห์ โดยผู้มีความชำนาญเฉพาะ

Q : ใส่พอร์ตแล้วสามารถทำเอ็กซ์เรย์หรือ CT scan ได้หรือไม่
สามารถทำได้ และ Celsite® access port ซึ่งเป็นพอร์ตที่ผลิดในเยอรมัน สามารถฉีดสารทึบแสงเอ็กซ์เรย์ที่มีแรงดันสูงทางพอร์ตได้ ยกเว้นหากพอร์ตที่ใช้เป็นรุ่น implantofix จะไม่สามารถทำได้

Q : ใส่พอร์ตแล้วสามารถทำ MRI ได้หรือไม่ 
สามารถทำได้อย่างปลอดภัยเนื่องจากเป็น MR conditional

เส้นเลือดขอด

เส้นเลือดขอดคืออะไร

           เส้นเลือดขอด คือ เส้นเลือดดำตื้นที่อยู่ใกล้กับผิวหนังเกิดการโป่งขยายตัว ซึ่งเป็นผลจากการทำงาน ของลิ้นในหลอดเลือดดำผิดปกติ ทำให้เส้นดำมีลักษณะคดเคี้ยว หงิกงอคล้ายตัวหนอนและย้อยโป่งออกมา หรืออาจเป็นคล้ายใยแมงมุงถ้าเป็นในเส้นเลือดดำที่มีขนาดเล็ก
 

เส้นเลือดขอดเกิดขึ้นได้อย่างไร

           ตามปกติหลอดเลือดดำมีหน้าที่นำเลือดดำกลับสู่หัวใจไปในทิศทางเดียว โดยอาศัยการบีบตัวของกล้ามเนื้อรอบๆ เส้นเลือดและภายในหลอดเลือดเอง ยังมีลิ้นปิดเปิดเป็นระยะ ๆ เพื่อให้เลือดดำไหลผ่าน และ ปิดกั้นไม่ให้ไหลย้อนกลับตามแรงโน้มถ่วงของโลก สิ่งใดก็ตามที่ขัดขวางการไหลของเลือดหรือรบกวนการทำงานของลิ้น รวมถึงคุณภาพและสุขภาพของหลอดเลือดไม่ดี จะทำให้การไหลเวียนไม่สมบูรณ์ส่งผลให้หลอดเลือดโป่งออกเป็นเส้นเลือดขอดได้ในที่สุด
 

    สาเหตุและปัจจัยการส่งเสริม

    1. กรรมพันธุ์
    2. น้ำหนักมากเกินไป หรือสตรีมีครรภ์
    3. การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด
    4. การอาบน้ำร้อนเป็นประจำ และการได้รับ
    5. ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน
    6. การสวมใส่รองเท้าส้นสูงเป็นเวลานานๆ
    7. การยืนหรือนั่งเป็นเวลานานๆ
    8. การขาดการออกกำลังกาย                                                                         

อาการแสดง

           ถ้าเป็นเส้นเลือดที่มีขนาดเล็ก ๆ มักไม่ค่อยมีอาการ แต่จะมีเส้นเลือดโป่งออกมาใต้ผิวหนังคล้ายใยแมงมุมถ้าเป็นเส้นเลือดขอดขนาดใหญ่หรือเป็นนาน ๆ จะมีอาการปวดน่อง เมื่อยล้า ข้อเท้าบวม และอาจเกิดแผลได้ถ้าไม่รักษา
           โรคนี้ถ้าไม่มีอาการใดไม่จำเป็นต้องรักษานอกจากมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ปวดตึงน่อง เป็นตะคริวบ่อยๆ มีแผล หรือข้อเท้าบวม แต่ก็มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อย ที่รักษาเพราะความสวยงาม

การตรวจและการวินิจฉัย         

           แพทย์จะตรวจร่างกายโดยใช้เครื่องอัลตราซาวด์ขนาดเล็กตรวจก่อนและต้องส่งอัลตราซาวด์เครื่องใหญ่บริเวณขาเพื่อหาความผิดปกติของลิ้นในหลอดเลือด

การรักษา

   1. ในระยะแรกที่เป็นยังไม่มากให้สวมถุงน่องหรือพันขาตั้งแต่ปลายเท้าจนถึงใต้เข่า โดยต้องมีขนาดและความดันที่พอเหมาะกับขาของแต่ละคน วิธีนี้จะช่วยลดอาการบวมและอาการเมื่อยน่อง แต่จะไม่ทำให้หายขาด
   2. การฉีดยาเข้าเส้นเลือดขอด วิธีนี้ให้กับที่มีขนาดเล็กคล้ายใยแมงมุมซึ่งอาจต้องฉีดยาหลายครั้ง
   3. การผ่าตัด วิธีนี้ใช้รักษาเส้นเลือดขอดที่มีขนาดใหญ่และมีอาการปวดน่อง
   4. นอกจากนี้ปัจจุบันยังมีวิธีการรักษาแบบใหม่ที่เริ่มใช้มากขึ้นคือการรักษาโดยใช้เลเซอร์ วิธีนี้จะมีแผลขนาดเล็กและเจ็บน้อย

โรคแขนขาบวมจากท่อน้ำเหลืองอุดตัน

“ โรคบวมจากท่อน้ำเหลืองเกิดได้อย่างไร ” โรคนี้เกิดได้จากการสะสมของน้ำเหลืองปริมาณมากบริเวณใต้ผิวหนัง  สาเหตุที่ทำให้เกิดคือมีการอุดตันของท่อรับน้ำเหลือง โดยปรกติคนเรา จะมีท่อน้ำเหลือง ซึ่งทำหน้าที่ลำเลียงโปรตีนที่อยู่ใต้ผิวหนัง ส่งไปยังหลอดเลือดเข้าสู่หัวใจ แต่สำหรับคนไข้ที่เป็นโรคท่อน้ำเหลือง มักจะมีการอุดตันของทางลำเลียงน้ำเหลือง  สาเหตุที่แท้จริงของภาวะนี้เกิดขึ้นได้จากปัจจัยหลายโรค ยกตัวอย่างเช่น ท่อน้ำเหลืออุดตันจากผู้ป่วยที่เคยผ่าตัดมะเร็งมดลูกและได้รับการเลาะต่อมน้ำเหลืองออก  หรือผู้ป่วยที่ได้รับการฉายแสง  ก็สามารถทำให้เกิดท่อน้ำเหลืองอุดตันบริเวณขา ทำให้เกิดอาการขาบวมหลังรักษาได้ ผู้ป่วยบางกลุ่มที่เคยได้รับการผ่าตัดเต้านม และได้รับการรักษาโดยการเลาะต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ ร่วมกับการฉายแสง ผู้ป่วยเหล่านี้ก็จะมีอาการแขนบวม หลังจากได้รับการรักษาได้ ภาวะดังกล่าวเหล่านี้จึงเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการบวมขึ้นได้

                                            

ภาพผู้ป่วยหญิงมีประวัติโรคมะเร็งที่ปากมดลูกได้รับการผ่าตัดตัดมดลูก
และเลาะต่อมน้ำเหลืองออกมา 10 ปี หลังจากนั้นมีอาการขาบวมของข้างซ้าย 

            “ผู้ป่วยท่อน้ำเหลืองอุดตันจะมีอาการเช่นไร” อันที่จริงผู้ป่วยที่มีอาการบวมจากท่อน้ำเหลือง มักจะไม่มีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันมากนัก  แต่อาจมีความรู้สึกรำคาญเพราะแขนหรือขาบวม ผู้ป่วยบางรายอาจมีความรู้สึกแน่นที่แขนหรือขา จากน้ำหนักมากของ ผิวหนังตึง จนคนรอบข้างสังเกตได้ชัด ในบางรายมีอาการปวดเกิดจากเอ็นหรือกล้ามเนื้อรับน้ำหนักมากเกินไป 

“แล้วจะดูแลร่างกายอย่างไร”
1. การดูแลผิวหนัง 
            อาการบวมจากท่อน้ำเหลืองอุดตันเกิดจากมีโปรตีนสะสมอยู่ใต้ผิวหนังเป็นจำนวนมาก  ซึ่งโปรตีนเหล่านี้เป็นแหล่งอาหารอย่างดีของเชื้อโรค เมื่อผิวหนังแห้งหรือมีรอยถลอก ปริ แตก เชื้อโรคก็สามารถแทรกเข้าไปเจริญเติบโตใต้ผิวหนังได้อย่างรวดเร็ว และทำให้เกิดแผลติดเชื้อ ผิวหนังแดง มีไข้ อาการเหล่านี้หากเกิดขึ้นก็จะทำให้ท่อน้ำเหลืองอุดตันมากขึ้น ก็ส่งผลให้บวมมากขึ้นอีก ดังนั้นการดูแลเรื่องผิดหนังที่บวมเป็นสิ่งที่สำคัญมาก
สิ่งที่ควรปฎิบัติคือ
ก) เมื่อมีรอยขีดข่วนจากของมีคม สัตว์ หรือแมลงกัดบริเวณผิวหนังที่บวม ควรได้รับการทายาฆ่าเชื้อตรงบริเวณแผลทันที  
ข) ไม่ปล่อยให้ผิวหนังแห้งหรือแตก ผู้ป่วยควรทาครีมบำรุงเพื่อทำให้ผิวหนังเกิดความชุ่มชื้นอยู่เสมอ  พึงระลึกเสมอว่าบริเวณซอกนิ้วหรือซอกเล็บต้องได้รับการเช็ดและดูแลให้แห้ง เพื่อป้องกันการสะสมของเชื้อโรค
ค) ไม่ควรให้แขน หรือขาที่บวมนั้นสัมผัสแสงแดดและความร้อนโดยตรงเพราะจะทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย
ง) ควรออกกำลังกายอย่างน้อย 2 ครั้ง ต่อสัปดาห์  ช่วงเวลาขณะที่ออกกำลังกายทุกครั้งผู้ป่วยควรใส่ถุงน่องหรือถุงแขนทุกครั้ง หากไม่มีถุงน่องหรือถุงแขนผู้ป่วยสามารถใช้ผ้าพันแทนได้ ถุงน่องหรือถุงแขนสำหรับโรคท่อน้ำเหลืองอุดตันจะต้องมีแรงรัดพอสมควร ซึ่งหาซื้อได้จากโรงพยาบาล หรือร้านขายยาชั้นนำ

2. การนวด การนวดโดยนักกายภาพบำบัดที่ถูกต้องเป็นการบีบนวดเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนน้ำเหลืองให้ดีขึ้น  จะลดการบวมจากท่อน้ำเหลืองได้ 

3. การใส่ถุงน่องหรือการรัดบริเวณบวม  เป็นการรักษาหลักในผู้ป่วยที่มีโรคนี้  วิธีนี้จะเป็นการรีดโปรตีนที่อยู่ใต้ผิวหนังให้ไหลกลับเข้าสู่ท่อน้ำเหลืองที่ยังเหลืออยู่กลับเข้าสู่หัวใจ   ปัจจุบันมีวิวัฒน์การในการรักษาท่อน้ำเหลืองอุดตันโดยการใส่ปั๊มไฟฟ้าเฉพาะโรค ที่สามารถบีบรัดขาอย่างต่อเนื่องทำให้การไหลเวียนของน้ำเหลือมีประสิทธิภาพมากขึ้น

4. การผ่าตัดรักษาท่อน้ำเหลืองอุดตัน  ซึ่งการรักษาผู้ป่วย สามารถทำการผ่าตัดโดยใส่ท่อพลาสติกเข้าไปตามแนวของท่อน้ำเหลือง ทำให้ระบบการไหลเวียนของท่อน้ำเหลืองดีขึ้น จนเกิดการไหลเวียนเป็นปรกติ เปรียบเทียบได้กับ การคมนาคมบนถนนหากถนนเส้นที่เราใช้เดินทางเป็นประจำนั้นเกิดการชำรุด เราสามารถสร้างเส้นทางใหม่ขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องใช้เส้นทางเดิม

                               

ภาพการฉีดสีท่อน้ำเหลือง ภาพซ้ายเป็นภาพก่อนผ่าตัดใส่ท่อ (ตรงลูกศรสีแดงจะเห็นว่าไม่มีสีดำ ท่อน้ำเหลือง) 
ภาพขวาแสดงหลังการใส่ท่อ (ตรงลูกศรสีแดง  จะเห็นแนวของท่อที่ใส่ระบายน้ำเหลืองได้เช่นเดียวกับขาอีกข้างซึ่งมีท่อน้ำเหลืองปกติ) และหลังผ่าตัดเส้นรอบวงบริเวณเหนือข้อเท้าลดจาก 45 เซนติเมตร มาเป็น 26 เซนติเมตร

โรคหลอดเลือดดำ

โรคหลอดเลือดดำ คืออะไร 

           โรคหลอดเลือดดำ เป็นโรคที่ผู้ป่วยและคนไทยมักจะ ไม่คุ้นเคยนัก โดยพื้นฐานแล้วเรามีเลือดไปเลี้ยงส่วน ต่างๆของร่างกายออกจากหัวใจ และหลอดเลือดที่ออก จากหัวใจไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายเรียกว่า “หลอดเลือดแดง” แต่หลอดเลือดที่นำเลือดจาก เนื้อเยื่อต่างๆของร่างกายกลับสู่หัวใจคือ “หลอดเลือด ดำ” ซึ่งหลอดเลือดดำที่ขามักมีปัญหามากที่สุดใน ร่างกาย เพราะขาอยู่ไกลจากหัวใจมากที่สุด ดังนั้นการ นำพาของเลือดดำกลับสู่หัวใจจึงทำได้ยาก ถ้ามีความ ผิดปกติจะเกิดปัญหาได้ง่าย โดยปกติแล้วเลือดจะ นำกลับสู่หัวใจได้โดยมีลิ้นบังคับทิศทางของเลือดอยู่ (รูปที่ 1) แต่บางครั้งถ้าการไหลเวียนของเลือดไม่ สะดวก เช่น การเกิดก่อนเลือดไปอุดตันในหลอดเลือด เลือดก็ไม่สามารถไหลเวียนได้สะดวก หรือถ้าลิ้นบังคับ ทิศทางของเลือดผิดปกติ จึงเปรียบเสมือนวาล์วน้ำใน ท่อน้ำประปาปิดไม่สนิทก็จะมีการรั่วของน้ำออกมาตาม ก๊อกน้ำต่างๆ เช่นเดียวกันกับหลอดเลือดดำ เมื่อลิ้นใน หลอดเลือดดำปิดไม่สนิทก็มีการรั่วของเลือดออกมาที่ บริเวณเท้าและขา ซึ่งอยู่ส่วนที่ต่ำที่สุดของร่างกาย

   รูปที่ 1 แสดงทิศทางการไหลเวียนของโลหิตในหลอดเลือดดำ 

ผู้ป่วยสามารถมีอาการอะไรบ้าง

           ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดดำสามารถมี อาการแสดงได้หลากหลาย เช่น ถ้าผู้ป่วยมีโรคก้อนเลือดอุดตัน ในหลอดเลือดดำ ผู้ป่วยจะมาด้วย อาการขาบวม (รูปที่ 2) ซึ่งอาการ ดังกล่าวอาจจะบวมอย่างฉับพลัน นำไปสู้การเน่าของขาหรือปอดได้ หรือถ้ามีลิ้นหลอดเลือดรั่วขนาดเล็กๆ ผู้ป่วยก็จะมีอาการเส้นเลือดฝอยแตกตามขา (รูปที่ 3)


รูปที่ 2 แสดงอาการของผู้ป่วยขาบวมจากหลอดเลือด
ดำอุดตันและส่งผลให้ขาเน่าเสีย                                         
                          
รูปที่ 3 แสดงลิ้นหลอดเลือดเสื่อมและเกิดหลอดเลือดฝอยตามขา 

หรือถ้าเป็นลิ้นหลอดเลือดรั่วขนาดใหญ่ ผู้ป่วยสามารถเป็นเส้นเลือดขอดขึ้นตาม ขา (รูปที่ 4) และถ้าผู้ป่วยเหล่านี้ปล่อยทิ้งไว้นานๆ ผู้ป่วยอาจจะมี อาการขาบวมหรือผิวหนังดำขึ้นตามขาได้ (รูปที่ 5)

 
รูปที่ 4 แสดงเส้นเลือดขอด ของผู้ป่วยที่มีเส้นเลือด
ขอดนาน 20 ปี ทั้ง 2 ขา

รูปที่ 5 แสดงผู้ป่วยที่มีอาการเส้นเลือดขอดมานานและไม่ได้
รับการรักษาเกิดอาการขาดำและบวม

           และถ้าอาการดังกล่าวยังไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยก็จะมี อาการของแผลเรื้อรัง (รูปที่ 6) และแผลเหล่านี้สามารถที่จะกลายเป็นมะเร็งในอนาคตได้
                                    
รูปที่ 6 แสดงผู้ป่วยที่ได้รับอุบัติเหตุ จากรถจักรยานยนต์  เมื่อ 10 ปีที่ ผ่านมา แล้วเกิดโรคหลอดเลือดดำ ส่งผลให้เกิดแผลเรื้อรังที่บริเวณเท้า ซ้ายเป็นเวลานานถึง 5 เดือน

ถ้าท่านมีอาการดังที่กล่าวมาควรไปปรึกษาแพทย์
คลินิกหมอกิตติพันธุ์-หมออมราภรณ์ 111/66  หมู่ 2 ต.หนองหอย   อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50000 
โทรศัพท์คลินิก 053-413 066 โทรศัพท์มือถือ 085-866 8484
เพิ่มเพื่อน Line @kittipan.clinic  
Email: [email protected]

โรคหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง

ภาวะหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง

สาเหตุการเกิด

           ภาวะหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง มีสาเหตุจากความผิดปกติของลิ้นหลอดเลือดดำทำให้เลือดดำไม่สามารถไหลย้อนกลีบไปสู่หัวใจได้ ทำให้หลอดเลือดดำโป่งพอง หลอดเลือดแข็ง มีผลทำให้หลอดเลือดดำโป่งพอง หลอดเลือดแข็ง มีผลทำให้ผิวหนังคล้ำ บวมบริเวณข้อเท้าและถ้าหากไม่รีบรักษาปล่อยให้เรื้อรังจะทำให้มีอาการเป็น ๆ หาย ๆ และอาจเกิดแผลได้ในที่สุด ซึ่งภาวะดังกล่าวนี้มีลักษณะการเกิดคล้ายกับเส้นเลือดขอดแต่รุนแรงกว่า

การวินิจฉัยของแพทย์

           การตรวจและการวินิจฉัยจะคล้ายกับการตรวจของเส้นเลือดขอด คือ มีการตรวจร่างกายโดยยึดอาการทางร่างกายเป็นหลัก นอกจากนี้ยังใช้ อัลตราซาวด์ช่วยยืนยันอีกที
อาการของโรค
   1. อาจมีลักษณะอาการของเส้นเลือดขอดถ้าเป็นเรื้อรังจะมีอาการเพิ่มขึ้น
   2. ข้อเท้าบวม
   3. สีผิวหนังเปลี่ยนไปเป็นสีคล้ำขึ้น
   4. มักเกิดแผลเรื้อรังบริเวณข้อเท้า
 

การรักษา

           อาการดังกล่าวไม่จำเป็นต้องรักษาโดยการผ่าตัดหรือใช้ยา เพียงแต่ใช้วิธีการพันขาสม่ำเสมอ และทำแผลที่ถูกวิธีก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยแพทย์ผู้ทำการรักษาจะแนะนำและสอนการพันขาที่ถูกต้อง คือต้องพัน 3 – 4ชั้น ด้วยผ้ายืด ซึ่งสามารถนำไปทำเองที่บ้านได้
 

การปฏิบัติตัว

   1. หลีกเลี่ยงการยืนหรือนอนนาน ๆ
   2. ควบคุมน้ำหนักให้พอเหมาะ
   3. ออกกำลังกายเป็นประจำ
   4. งดสูบบุหรี่
   5. นอนยกขาสูง
   6. พันขาและทำแผลให้ถูกต้อง

วิธีการทำแผลที่ถูกต้องดังนี้
   – ถ้ามีแผลให้ทำแผลทุก 3 วัน แต่ถ้าซึมมากหรือมีหนองให้ทำแผลทุกวัน จากนั้นพันขาไว้ตลอดหลังทำแผล ยกเว้นตอนนอนถ้าไม่สะดวกคลายออกได้ แต่ต้องนอนยกขาสูงบนหมอน
   – ทำแผลโดยใช้แอลกอฮอลล์เช็ดรอบแผลและน้ำเกลือที่สะอาด
   – ปิดแผลด้วยแผ่นปิดแผล เช่น bactigras แล้วปิดด้วยผ้าก๊อซ
   – พันด้วยสำลีม้วน เช่น webril ตั้งแต่ปลายเท้าถึงใต้เข่าแบบเป็นเกลียวถ้าไม่มีใช้ผ้าก๊อซม้วนปิดแผลพันแทน
   – จากนั้นพันด้วยผ้ายืดสีน้ำตาล ( elastic bandage ) ตั้งปลายเท้าถึงใต้เข่าเช่นเดิมแบบเป็นเกลียว
   – พันชั้นนอก ด้วยผ้าเทปแบบมีกาว (cohesive bandage)เป็นเกลียวเป็นชั้นสุดท้าย (ถ้าไม่มีไม่พันก็ได้) 

           ซึ่งวิธีการทำแผล การพันขา เจ้าหน้าที่จะสอนก่อนกลับบ้านและจะได้รับคู่มือประจำตัว ซึ่งต้องนำติดตัวทุกครั้งเมื่อไปทำแผลที่ ร.พ. หรือเมื่อมาตรวจตามนัดเพื่อประเมินดูการหายของแผล(แจ้งให้เจ้าหน้าที่ที่ทำแผลบันทึกรายละเอียด) ของแผลทุกครั้งที่ทำแผล

การรักษาเส้นเลือดขอดโดยการฉีดยา

การฉีดยารักษาเส้นเลือดขอด

           คือ การฉีดยาเข้าเส้นเลือดที่มีอาการขอด โดยยานี้จะมีผล ต่อหลอดเลือดทำให้เกิดการอักเสบและตีบไปในที่สุด เพราะการอักเสบที่เกิดในหลอดเลือด เปรียบเสมือนกาวที่ทำให้ผนังหลอดเลือดติดกัน จนตีบหายไป ซึ่งการรักษาโดยวิธีนี้จะได้ผลดีใน เส้นเลือดดำขอดที่มีขนาดเล็ก แต่อาจต้องมีการฉีดยาหลายครั้ง

จะมีอะไรเกิดขึ้นบ้างในช่วงที่ฉีดยา
           เริ่มแรกของการรักษาแพทย์จะอธิบาย ให้ทราบถึงวิธีการรักษา ผลดี ผลเสีย และ ภาวะแทรกซ้อนให้ทราบก่อน  การรักษานี้ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล สามารถทําได้ที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอกได้ หลังฉีดยาต้องปิดผ้าก็อซและพันขาไว้ด้วยผ้ายืดหรือใส่ถุงน่องเฉพาะโรค โดยเริ่มจากปลายเท้าจนปิดทุกส่วนที่ฉีดยา แล้วสามารถกลับบ้านได้ทันที
           การพันขาหรือใส่ถุงน่องเป็นสิ่งจำเป็นมากสำหรับการ ฉีดยา เพราะยาที่ฉีดเข่าไปในเส้นเลือดขอดทำให้ เกิดการอักเสบ การอักเสบทำหน้าที่คล้ายกาวที่ติดกระดาษ ถ้าจะให้กระดาษสองแผ่นติดกันหลังทำจะต้องกดกระดาษไว้ เช่นเดียวกับเส้นเลือด หลังฉีดยา จะต้องมีแรงรัดรอบบริเวณที่ฉีดเป็นการกดเส้นเลือดไว้ จึงจำเป็นต้องใส่ถุงน่อง หรือ ต้องพันขาไว้ เพื่อให้ผนังหลอดเลือดติดกัน แล้ว หลอดเลือดที่ขอดจะตีบหายไปในที่สุด 
 

การปฏิบัติตัวหลังการฉีดยา  

   1. หลังฉีดยาต้องเดินตลอดเวลาเป็นเวลา 30 นาที ก่อนที่จะนั่งหรือกลับบ้าน  
   2. สามวันแรกหลังฉีดยาต้องพันขาไว้ ตลอด แล้วในวันที่สี่เอาก็อซออกและคลายผ้ายืดหรือถุงน่อง ออกได้ แต่ต้องพันขาหรือใส่ถุงน่องทุกครั้งเวลาเดินหรือยืนส่วน ตอนกลางคืนคลายผ้าได้แต่ต้องนอนยกขาสูงบน หมอน  ควรระวังไม่ให้ผ้ายืดเปียกน้ำเพราะจะทำ ให้หลวมได้  
   3. หลีกเลี่ยงการเดินบ่อย ๆ หรือการนั่ง ห้อยขา ถ้าจำเป็นให้ยกขาพาดกับเก้าอี้อีกตัว 
   4. สามารถกลับไปทำงานได้ตามปกติแต่ ต้องงดออกกำลังกายรุนแรงในระยะ 3 สัปดาห์ หลังการรักษา เช่น การเล่นฟุตบอล ว่ายน้ำ หรือ งานที่อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บที่ขา 
 

ภาวะแทรกซ้อนหลังฉีดยา 

   1. เนื่องจากกลไกหลังการฉีดยา คือ การ ทำให้หลอดเลือดอักเสบ ซึ่งการ อักเสบนี้มีผลทำให้เกิดอาการปวด หรือแดงตามหลอดเลือด มักเป็นใน ช่วงแรก ๆ หลังการฉีดยา
   2. การบวมที่ข้อเท้า อาการนี้จะพบเมื่อ ยืนนาน ภาวะนี้จะหายถ้าเดินบ่อย ๆ นั่ง หรือนอนยกขาสูง
   3. การเกิดการอุดตันของก้อนเลือดในหลอดเลือดดำใหญ่ เป็นภาวะที่อันตราย แต่พบได้ค่อยข้างน้อยในคนไทย สังเกตได้จากขาบวมและปวด
   4. สีผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลหรือเกิดเส้นเลือดขอดขนาดเล็กบริเวณที่ ฉีดยา ภาวะนี้พบได้น้อยและเมื่อนานไปจะหายเองได้
   5. อาจเกิดแผลบริเวณที่ฉีดยา แต่เกิดได้ น้อยมากมักพบในรายที่ผิวหนังบาง มาก ๆ แต่สามารถหายได้เอง

ผลการรักษา  

           ตามปกติผลการรักษาจะอยู่ได้ค่อนข้าง นาน ถ้าหากมีการดูแลอย่างถูกต้อง นอกจากว่ามี หลอดเลือดขอดเกิดขึ้นใหม่ ดังนั้นแพทย์จะนัดมา ตรวจหลังการรักษาเป็นระยะเพื่อเฝ้าระวังการเกิด ใหม่

การเตรียมตัวในวันฉีดยา  

   1. นำถุงน่องหรือผ้าพันขามาด้วย (ถ้ามี) 
   2. งดทาครีมทุกชนิดคืนก่อนฉีดยาและใน วันที่มาฉีดยา 
   3. ควรสวมกระโปรงหรือกางเกงที่หลวม ๆ เพื่อสะดวกในการฉีดยา (ถ้าเป็นไปได้นำกางเกง ขาสั้นมาเปลี่ยนด้วย)  
   4. ท่านสามารถขับรถกลับบ้านได้ด้วยตัวเองหลังรักษา

การผ่าตัดเส้นเลือดขอด

การผ่าตัดรักษาโรคเส้นเลือดขอด

   การผ่าตัดประกอบด้วยส่วนต่างๆ ดังนี้   
           ขั้นแรกแพทย์จะลงแผลผ่าตัดบริเวณขาหนีบเพื่อไปตัดและผูกหลอดเลือดที่มีลิ้นหลอดเลือดรั่วกลับมาจากหลอดเลือดดำใหญ่ หลังจากนั้นแผลจะปิดก็อซด้วยไหมละลาย
           ขั้นที่สองแพทย์จะนำเอาหลอดเลือดดำที่ใต้ผิวหนังบริเวณขาออก โดยก่อนผ่าตัดแพทย์จะใช้ปากกาวาดตามแนวของหลอดเลือดขอด ซึ่งเส้นเลือดเหล่านี้จะถูกดึงออกทางหลอดเลือดขอด ซึ่งมีขนาดเท่าหัวเข็ม จึงไม่ต้องเย็บแผลใช้แค่ผ้าปิดแผลไว้
           ขั้นตอนสุดท้ายของการผ่าตัดแพทย์จะพันขาของท่านให้กระชับเพื่อป้องกันการมีเลือดออกจากแผล

 

การดูแลเรื่องความเจ็บปวดช่วงผ่าตัด

           ในขณะผ่าตัดจะได้รับการดูแลจากวิสัญญีแพทย์โดยจะได้รับดมยาสลบหรือยาฉีดเข้าทางไขสันหลัง ซึ่งจะช่วยระงับปวดในช่วงผ่าตัด บางครั้งผู้ป่วยสามารถเลือกวิธีการดมยาสลบได้แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับการประเมินของแพทย์และวิสัญญีแพทย์อีกที ซึ่งคนส่วนใหญ่มักกลัวขั้นตอนนี้ แต่ปัจจุบันวิทยากรการรักษาได้ก้าวหน้ามากจึงมีความปลอดภัยมากขึ้น 

การปฏิบัติตัวก่อนผ่าตัด

           ผู้ป่วยจะต้องนอนโรงพยาบาลหนึ่งวันก่อนผ่าตัดและหลังผ่าตัดอีกหนึ่งคืน แต่ในกรณีที่ผ่าตัดสองขาหรือมีปัญหาโรคประจำตัวมากอาจต้องนอนโรงพยาบาลมากกว่าหนึ่งคืน ทีมผู้รักษาที่ดูแล คือ แพทย์ วิสัญญีแพทย์ พยาบาล ในตอนแรก
จะได้รับการตรวจทางห้องปฏิบัติการต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมของร่างกายก่อนผ่าตัด รวมทั้งวาดเส้นตามแนวเส้นเลือดขอดเพื่อเป็นประโยชน์ในขณะผ่าตัด 

ส่วนการปฏิบัติทั่วไปมีดังนี้

   1. การเซ็นต์ใบยินยอมเพื่อการรักษาและการผ่าตัดโดยแพทย์จะอธิบายให้เข้าใจก่อนผ่าตัด
   2. ต้องงดน้ำและอาหารก่อนผ่าตัด 6 ชั่วโมง โดยปกติจะงดหลังเที่ยงคืน เพื่อป้องกันการสำลักอาหารเข้าหลอดลม
   3. เพื่อป้องกันการติดเชื้อจะต้องโกนขนบริเวณขาหนีบ
   4. ต้องแจ้งประวัติรับประทานยาให้แพทย์ทราบเพื่อจะได้รับประทานยาได้ต่อเนื่อง ถ้ารับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดต้องแจ้งเช่นกันเพราะอาจเกิดก้อนเลือดในหลอดเลือดดำ และจะแนะนำให้ใช้วีอื่นในการคุมกำเนิดในช่วงหนึ่งเดือนก่อนผ่าตัด 

การปฏิบัติตัวหลังผ่าตัด

   1. หลังผ่าตัดมักมีอาการเจ็บสามารถขอยาแก้ปวดได้โดยมากมักปวดประมาณ 3 วัน หลังผ่าตัด
   2. หลังผ่าตัดหนึ่งวันแพทย์จะเปลี่ยนผ้าปิดแผล ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อนจะให้กลับบ้านได้
   3. หลังผ่าตัดต้องออกกำลังกายขาโดยยกขึ้นลงเมื่อรู้สึกตัวเพื่อป้องกันลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำ
   4. การดูแลแผลที่บ้านถ้าไม่ซึมไม่จำเป็นต้องทำแผล เพียงแต่รอวันนัดตรวจดังนั้น หลังผ่าตัดถ้ายังไม่ได้มาตรวจไม่ควรอาบน้ำให้เช็ดตัวหรือใส่ถุงพลาสติกที่ขาเวลาอาบน้ำ ถ้ามีเลือดออกให้กดบริเวณแผล 10 นาที ถ้าไม่หยุดให้กดไว้อีก 10 นาที ถ้ายังไม่หยุดให้รีบมาตรวจทันที
   5.ต้องใส่ผ้าพันขาตลอด 7 วัน หลังผ่าตัดอาจเอาออกได้แต่ต้องยกขาสูง
   6. ให้เริ่มเดินให้เร็วที่สุดหลังผ่าตัด ให้เดินบ่อยๆ อาจเดินสั้น ๆ ทุกครึ่งชั่วโมง หลีกเลี่ยงการยืนนิ่งๆ หรือนั่งห้อยขานาน ๆ ในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังผ่าตัด
   7. ประมาณ 1 สัปดาห์หลังผ่าตัดสามารถขับรถยนต์ได้
   8. เมื่อร่างกายพร้อมสามารถออกกำลังกายหรือทำงานได้ตามปกติ แต่ถ้าทำงานที่ต้องยืนนานหรือขับรถมาก ควรหยุดอย่างน้อย 2 สัปดาห์ แต่ไม่ควรเกิน 3 สัปดาห์ 

ภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด

   1. เจ็บขาเป็นจุด ๆ ซึ่งอาการนี้จะหายไปใน3-4 สัปดาห์
   2. มีก้อนเล็ก ๆ ที่ขากดเจ็บ ซึ่งสามารถสลายได้เอง แต่อาจทำให้เดินขัดได้
   3. การติดเชื้อของแผลผ่าตัด
   4. มีการสะสมของน้ำเหลืองที่ขาหนีบ
   5. มีรอยแผลที่เห็นชัดในระยะแรกแต่จะค่อยๆจางหายไป
   6. เส้นประสาทได้รับการกระทบกระเทือนเนื่องจากอยู่ใกล้เส้นเลือดดำ
   7. การเกิดลิ่มเลือดอุดตันเส้นเลือดดำ
   8. ภาวะแทรกซ้อนจากการดมยาสลบ

หมายเหตุ   บางรายหลังผ่าตัดอาจมีการกลับมาใหม่ของเส้นเลือดขอด มักเกิดจากเส้นเลือดที่เคยปกติในการผ่าตัดครั้งที่ผ่านมากลับมีปัญหา โดยทั่วไปสามารถฉีดยาหรือผ่าตัดได้อีก 
                  ปัจจุบันมีการรักษาด้วยเลเซอร์หรือคลื่นวิทยุ มาทดแทนการผ่าตัด ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว ศึกษารายละเอียดได้ที่ www.legveinclinicthailand.com หรือสอบถามได้ที่คลินิก

ลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำที่ขา

ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำที่ขาคืออะไร 

           หลอดเลือดดำของคนเรามีสองส่วน คือ ส่วนตื้นและส่วนลึก หลอดเลือดดำส่วนลึกมี ความสำคัญมากเพราะเป็นตัวหลักในการนำเลือดดำ กลับเข้าสู่หัวใจโดยเฉพาะที่ขา การอุดตันดังกล่าวนี้ คือ การมีลิ่มเลือดไปอุดบริเวณหลอดเลือดดำทำให้ อุดตัน ส่งผลให้ขาบวม ปวด ถ้าไม่รักษาโอกาสที่ เกิดลิ่มเลือดหลุดไปอุดตันเส้นเลือดที่ปอดและ หัวใจได้สูง และอาจเกิดอันตรายชีวิตถึงชีวิตได้

 

 

ลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำเกิดได้อย่างไร 

           โดยปกติคนเรามีการไหลเวียนของเลือด แบบไหลวนตลอดเวลา ในหลอดเลือดดำจะมีลิ้น เป็นตัวบังคับทิศทาง ลิ้นนี้เปรียบเหมือนวาวล์ของ น้ำประปาที่ควบคุมทิศทางการไหลของน้ำ นอกจากนี้การหดตัวของกล้ามเนื้อยังเป็นตัวช่วยดัน เลือดอีกแรงหนึ่ง โดยจะเกิดตอนเดินหรือวิ่ง ถ้านั่ง หรือนอนจะไม่บีบตัว ดังนั้นถ้านั่งหรือนอนนาน ๆ ทำให้เลือดคั่ง โอกาสก่อเป็นลิ่มเลือดมีได้สูง  นอกจากนี้ยังพบในผู้ป่วยหลังผ้าตัดช่องท่อง ผู้ป่วย มะเร็ง ผู้ที่รับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเลือด 

เมื่อมีลิ่มเลือดจะเกิดผลอย่างไร 

   1. ลิ่มเลือดอาจสลายไปได้เองตาม กระบวนการธรรมชาติ 
   2. ผู้ป่วยส่วนมากมีผลต่อลิ้นในหลอด เลือด ส่งผลให้การไหลของเลือดดำ ผิดปกติ ทำให้ขาบวมได้
   3. บางกลุ่มโชคร้ายลิ่มเลือดแตกและหลุด ลอยไปตามเส้นเลือดไปอุดหลอดเลือด หัวใจและปอด ถ้าก้อนเลือดมีขนาด เล็กอาจมีอาการ เจ็บอก ไอเป็นเลือด หายใจลำบาก ถ้าลิ่มเลือดขนาดใหญ่ก็ จะอุดตันทำให้เสียชีวิตได้
 

การรักษา 

เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดลิ่มเลือดมากขึ้น แพทย์จะรักษาโดยการให้ยาละลายลิ่มเลือดซึ่งมีอยู่ สองชนิด
   1. การให้ยาเฮพารินฉีดในระยะแรกต่อมา จึงให้เป็นยาวอฟารินรับประทาน เป็นเวลาอย่าง น้อย 3 – 6 เดือน ซึ่งต้องนอนโรงพยาบาลใน ระยะแรก 
   2. การให้ยาฉีดทางผิวหนังผู้ป่วยสามารถ กลับบ้านได้ แต่ยามีราคาแพง ซึ่งการให้ยาทั้งสอง กลุ่มมีผลแทรกซ้อน คือ ทำให้เลือดออกง่าย แพทย์จึงนัดตรวจเลือดเป็นระยะเพื่อหาค่าการแข็งตัวของ เลือดและปรับยาตามผลเลือด

ข้อควรรู้เมื่อได้ยาละลายลิ่มเลือด 

   1. ผลของยาอาจทำให้เลือดออกมากหรือ หยุดยาก ควรสังเกตอาการดังนี้ถ้ามีความผิดปกติให้ รีบไปพบแพทย์ มีเลือดออกจากเหงือก เลือด กำเดาออก หรือมีจุดเลือดออกตามผิวหนัง มีประจำเดือนออกมากและนานผิดปกติ ปัสสาวะมีสีแดง (มีเลือดปน) หรืออุจจาระมีเลือดปนหรือเป็นสีดำ  
   2. ยาอาจมีปฏิกิริยากับยาอื่น ถ้ารับประทาน ยาอื่นเป็นประจำ หรือจะรับประทานยาเพิ่ม ควรบอกแพทย์ทุกครั้งเพื่อสะดวกในการปรับยาและป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น  
   3. หลีกเลี่ยงการดื่มสุราเพราะมีปฏิกิริยากับยาวอฟาริน 
   4. ต้องรับประทานยาต่อเนื่องทุกวันเพื่อให้ระดับยาคงที่แต่ถ้าลืมรับประทานหรือยาหมดควรพบแพทย์ทันทีไม่ควรปรับยาเอง 

ข้อควรปฏิบัติในขณะรักษา

   1. ในระหว่างการรักษาถ้ามีอาการเจ็บอก ไอเป็นเลือด หายใจไม่สะดวก หอบเหนื่อย ใจสั่น ควรพบแพทย์ทันที 
   2. ในวันแรกหลังเริ่มการรักษาควรนอนที่ เตียงและยกขาสูง แต่หลังจากนั้นสามารถดำเนิน ชีวิตได้ตามปกติ และควรนอนยกขาสูงเวลานี้ อาการบวมและปวดจะดีขึ้น

10 ข้อปฏิบัติในการดูแลเท้าในผู้ป่วยเบาหวาน

10 ข้อปฏิบัติการดูแลเท้าในผู้ป่วยเบาหวานเพื่อป้องกันการถูก “ตัดขา”

           การดูแลสุขภาพเท้าในผู้ป่วยเบาหวานเป็นเรื่องสำคัญเนื่องจากผู้ป่วยมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดแผลที่เท้าได้ง่ายจากสาเหตุหลายประการ ประการสำคัญคือ เส้นประสาทส่วนปลายเสื่อม ซึ่งเป็นผลมาจากการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่พอดี ทำให้ประสาทรับความรู้สึกเจ็บปวดและร้อนเย็นเสียไป บางรายอาจมีความรู้สึกชา ปวดแสบ ปวดร้อน หรือเจ็บที่เท้า ส่งผลให้ผู้ป่วยไม่ได้สังเกตว่า เท้ามีแผล ซึ่งอาจเกิดจากรองเท้าบีบเล็บขบ หรือเหยียบ ของมีคมต่างๆ เมื่อมีแผลแผลมักจะใหญ่ขึ้นและมีการติดเชื้อเกิดขึ้น ซึ่งสามารถติดเชื้อรุนแรงจนเข้ากระแสโลหิตได้ นอกจากนั้นที่สำคัญผู้ป่วยเท้าเบาหวานบางรายอาจมีหลอดเลือดส่วนปลายเท้าตีบร่วมด้วย ส่งผลให้หากได้รับการรักษาไม่ถูกต้องจะทำให้แผลลุกลามจนต้องถูกตัดเท้าหรือขา 

การปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการเกิดแผลที่เท้า

   1. ควรล้างเท้าทุกวันรักษาเท้าให้สะอาด ล้างเท้าทุกวันและเช็ดให้แห้ง โดยเฉพาะที่ซอกนิ้วเท้า
   2. ตรวจดูเท้าตนเองทุกวันว่ามีอาการ ปวดบวมมีแผล รอยช้ำ ผิวเปลี่ยนสี หรือเม็ดพองโดยตรวจให้ทั่วทั้งเท้า ซอกนิ้วเท้า และรอบเล็บเท้า ถ้ามีปัญหาเรื่องสายตาหรือการก้มตัว ควรให้ญาติช่วยตรวจให้ และควรได้รับการตรวจและรักษาโดยแพทย์เมื่อเกิดบาดแผล แม้แต่ขนาดเล็กๆที่เท้า
   3. ทาครีมที่เท้าเป็นประจำ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื่น โดยเว้นบริเวณซอกนิ้วเท้า เพื่อป้องกันการหมักหมม ซึ่งอาจทำให้เกิดเชื้อราได้ง่าย
   4. ใส่ถุงเท้าก่อนใส่รองเท้าทุกครั้ง ควรใส่ถุงเท้าที่ทำด้วยผ้าฝ้าย ไม่ใช้ถุงเท้าที่รัดมาก ควรเปลี่ยนทุกวัน
   5. ใส่รองเท้าตลอดเวลาแม้จะอยู่ในบ้าน ไม่ควรเดินเท้าเปล่า และควรเป็นรองเท้าหุ้มส้น และควรผึ่งรองเท้าเพื่อป้องกันความอับชื้น
   6. ควรตรวจภายในรองเท้าก่อนสวมเสมอเพื่อป้องกันสิ่งแปลกปลอมที่ตกค้างอยู่ในรองเท้า ซึ่งอาจก่อให้เกิดบาดแผลขณะสวมใส่
   7. ไม่ควรแช่เท้าในน้ำอุ่นหรือใช้กระเป๋าน้ำร้อนวางเท้า
   8. ควรตัดเล็บเป็นเส้นตรงไม่ให้เข้าเนื้อข้างๆเข้าไป
   9. ควรออกกำลังที่เท้าเพื่อให้เท้าแข็งแรงสม่ำเสมอ
   10. การสูบบุหรี่ทำให้มีปัญหาที่เท้า

วิธีการบริหารเท้าที่ควรทำเป็นประจำ

โรคขาขาดเลือด

ขาขาดเลือดอย่างรุนแรง

อะไรคือโรคขาขาดเลือดอย่างรุนแรง

                โรคนี้เกิดจากการซึ่งเลือดที่ไปเลี้ยงบริเวณขา หรือแขนมีปริมาณลดลงอันเกิดจากการที่มีหลอดเลือดตีบตันซึ่งมักจะมาจากไขมันที่ทำให้หลอดเลือดตีบตัน ผู้ป่วยจะมีอาการปวดปลายเท้า นิ้วดำเน่า หรือมีแผลเรื้อรังที่เท้าแล้วไม่หายในบางรายอาจจะมีการปวดเวลานอนพัก อาการมักจะปวดที่บริเวณปลายนิ้ว

     ภาพแสดงนิ้วเท้าดำเน่าที่นิ้วโป่งจากการขาดเลือดไปเลี้ยง

 

สาเหตุของการขาดเลือดอย่างรุนแรง

                โรคนี้เป็นโรคหลอดเลือดตีบตันในหลอดเลือดแดงส่วนมากมักจะเกิดในผู้ป่วยเบาหวานการอุดตันมักจะมีหลายๆ จุด การเกิดโรคดังกล่าวใช้เวลาในการพัฒนาการอย่างยาวนานกว่าจะมาถึงจุดที่ผู้ป่วยมีอาการ  โดยระยะแรกผู้ป่วยจะมีอาการเดินแล้วเมื่อยน่อง เดินขึ้นที่สูงแล้วมีอาการปวดน่องมากขึ้น  ถ้าไม่ได้รับการรักษา และอาการอาจจะแย่ลง ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บที่ปลายนิ้วเท้า นิ้วเท้าดำเน่า และถ้ายังมีอาการแย่ลงอีกก็จะมีอาการนิ้วเท้าดำเน่าเป็นแผลเรื้อรังไม่หาย

การรักษาทำเช่นไร

                ในผู้ป่วยที่มีเพียงอาการขาขาดเลือดแบบเดินแล้วเมื่อยน่อง ผู้ป่วยเหล่านี้การรักษาส่วนมากต้องการเพียงรักษาปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้มีคราบไขมันพอกอยู่ที่หลอดเลือด เช่น หยุดการสูบบุหรี่หรือรับควันบุหรี่จากคนอื่น ลออาหารที่หวาน ลดไขมันสูงในเลือด ลดความดันโลหิต ออกกำลังกายสม่ำเสมอ แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการขาขาดเลือดแบบปวดที่ปลายนิ้วเท้าเวลานอน มีแผลเรื้อรังหรือนิ้วเท้าดำเน่า การรักษาที่ดีที่สุดในกรณีนี้ คือ เพิ่มเลือดไปเลี้ยงที่ขามีอยู่ 2 วิธี หนึ่งคือการทำเลือดลัดมาเลี้ยงขา ในการผ่าตัดเหมือนการตัดถนน เลี่ยงเมือง  ที่เมื่อเมืองมีรถติดมากจะขยายก็ไม่ได้  ก็ทำถนนเลี่ยงเมือง หรือที่เราเรียกกันว่า Bypass   หรืออีกวิธีหนึ่งซึ่งเป็นวิธีใหม่ซึ่งใช้ในกรณีที่หลอดเลือดมีการตีบระยะสั้นๆ อาจจะใช้ลูกบอลลูนไปถ่างขยายจุดที่ตีบนั้นได้ เราเรียกว่า การขยายโดยลูกบอลลูนซึ่งวิธีดังกล่าวก็มีการเจ็บตัวน้อยเพียงฉีดยาชาก็ทำได้ แต่จะเหมาะเฉพาะในกรณีที่มีหลอดเลือดตีบตันในบริเวณเล็กๆ

ภาพฉีดสีหลอดเลือด
ภาพซ้ายแสดงหลอดเลือดที่ขาตีบสั้นๆ
จึงได้ทำการถ่างขยายโดยใช้ลูกบอลลูน หลอดเลือดจึงเปิดดังภาพขวา

ควรไปปรึกษาแพทย์ท่านใด

ถ้าท่านมีอาการดังกล่าวควรจะไปหาแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยเฉพาะหมอทางด้านหลอดเลือด เช่น ศัลยแพทย์หลอดเลือด หมอผ่าตัดศัลยแพทย์ หรือหมออายุรกรรมที่เกี่ยวกับโรคหลอดเลือดและหัวใจ

โรคนี้จำเป็นที่จะต้องรับการรักษาในโรงพยาบาล

การตรวจที่ห้องตรวจ

1. แพทย์จะอธิบายถึงโรค ,การรักษา และการผ่าตัด โดยก่อนทำการผ่าตัด
ท่านต้องเซ็นต์ใบยินยอมผ่าตัด และยินยอมรับเลือด
2. ท่านจะได้รับการตรวจเลือด, เอ็กซเรย์ และตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจก่อนขึ้นบนตึกผู้ป่วย
ถ้ามีความผิดปกติ แพทย์จะแก้ไขก่อนผ่าตัด
3. ท่านต้องนำยาเดิมที่ท่านรับประทานมาด้วยและให้แพทย์ดูทุกครั้ง

    การนอนโรงพยาบาล

หลังจากตรวจจากห้องผู้ป่วยนอกแล้ว ท่านจะได้นอนโรงพยาบาล บนตึกผู้ป่วย
โปรดแจ้งสิทธิการรักษาพยาบาล  เช่น ใบส่งตัว ข้าราชการ บัตรทอง ประกันสังคม ให้เจ้าหน้าที่
ห้องตรวจทราบ ก่อนเข้านอนโรงพยาบาล เพื่อให้ตรวจสอบสิทธิ์ให้เรียบร้อยก่อน

การบริจาคเลือด  

           การผ่าตัดจำเป็นต้องใช้เลือดจำนวนมาก  ควรนำญาติมา บริจาคเลือดตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป  โดยให้ติดต่อที่
หอผู้ป่วย เพื่อส่งไป บริจาคยังธนาคารเลือด

การปฏิบัติตัวก่อนผ่าตัด 

1. วันก่อนผ่าตัดให้ทำความสะอาดร่างกาย สระผม ตัดเล็บให้สั้น เพื่อป้องกันการกระจายของเชื้อโรค ห้ามทาสีเล็บ (ถ้ามีดังต่อนี้ เช่นประจำเดือน,ไข้หวัด แจ้งให้แพทย์ทราบด้วย)
2. ได้รับการตรวจเยี่ยมและคำแนะนำจากพยาบาลห้องผ่าตัดและแพทย์ดมยาสลบ จะมาเยี่ยมและประเมินอาการเพื่อดูแลในห้องผ่าตัดได้ถูกต้อง 
3. ท่านจะได้รับคำแนะนำจากพยาบาลประจำหอผู้ป่วยเกี่ยวกับ การปฏิบัติตัวก่อนและหลังผ่าตัด 
4. ท่านจะได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับการออกกำลังกายก่อนและหลัง ผ่าตัดจากนักกายภาพบำบัด 
5. เจ้าหน้าที่หอผู้ป่วยจะทำความสะอาดบริเวณผ่าตัดตั้งแต่ขาหนีบ และขาทั้งสองข้างยกเว้นรอยปากกาห้ามลบ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ คืนก่อนผ่าตัด 
6. เวลาประมาณ 20.00 น. ท่านจะได้รับยาคลายเครียดซึ่งทำให้รู้สึก ง่วงนอน ท่านต้องพักที่เตียง ระมัดระวังเกิดอุบัติเหตุ 
7. ท่านต้องงดน้ำและอาหารหลังเที่ยงคืน 
8. ถ้าท่านมีประวัติโรคประจำตัวอื่น เช่น เบาหวาน หัวใจ จะมีแพทย์เฉพาะทางมาตรวจเยี่ยมและประเมินอาการก่อนผ่าตัด 
 

การปฎิบัติตัวในวันผ่าตัด 

1. หลังจากได้รับการตรวจวัดสัญญาณชีพแล้วควรอาบน้ำทำความ สะอาดร่างกายอีกครั้ง และเปลี่ยนเสื้อผ้าชุดใหม่ไม่สวมชุดชั้นใน หรือเครื่องประดับใดๆควรให้ญาติเก็บเพราะอาจสูญหายได้ 
2. ท่านต้องงดน้ำและอาหารทุกชนิดทางปากจนกว่าจะได้รับการ ผ่าตัดและท่านจะได้รับการใส่น้ำเกลือและยาคลายเครียดอีกครั้ง ก่อนผ่าตัด โดยให้ดื่มน้ำตามประมาณ 30 ซีซี 
3. ก่อนเข้าห้องผ่าตัดท่านจะได้รับการเตรียมบริเวณผ่าตัดโดยการ ทำความสะอาดด้วยการทาน้ำยาฆ่าเชื้อบริเวณผิวหนังตั้งแต่บริเวณ ขาหนีบและขาทั้ง สองข้าง (ห้ามลบรอยปากกา) เพื่อลดเชื้อโรค โดยเจ้าหน้าที่ประจำหอผู้ป่วย 
4. ปัสสาวะก่อน ไปห้องผ่าตัด 
5. เมื่อถึงเวลาผ่าตัดเจ้าหน้าที่ห้องผ่าตัดจะนำเปลมารับเข้าห้อง ผ่าตัด 
6. ขณะผ่าตัดท่านจะได้รับการดูแลจากทีมแพทย์ผ่าตัด, พยาบาล และวิสัญญีแพทย์, วิสัญญีพยาบาลอย่างใกล้ชิด ใช้เวลาผ่าตัดอย่าง น้อย 4 ชั่วโมง 
7. เมื่อผ่าตัดเสร็จท่านจะได้รับการดูแลที่ห้องพักฟื้น 2 ชั่วโมง จากนั้นต้องได้รับการดูแลต่อที่ตึกศัลยกรรมผู้ป่วยหนักทั่วไป ถ้า อาการปกติดีจึงย้ายขึ้นตึกผู้ป่วยเดิม
 

การปฏิบัติตัวหลังผ่าตัด

1. ท่านสามารถออกกำลังกายได้ โดยจะมีทีมนักกายภาพบำบัดมาให้คำแนะนำ
2. ภายหลังการผ่าตัดอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนเช่น  เท้าข้างที่ ผ่าตัดเย็นลง ปวดแผลผ่าตัด การเกิดลิ่มเลือดที่ขาได้ ดังนั้นท่านสามารถป้องกันโดยเมื่อรู้สึกตัว และเอาท้อ ช่วยหายใจออกควรพลิกตะแคงตัว ออกกำลังกายและไอ อย่างมีประสิทธิภาพตามคำแนะนำของนัก กายภาพบำบัดและพยาบาล
3. ถ้ามีอาการปวดแผลมาก ควรแจ้งพยาบาลเพื่อจะได้รับยาแก้ปวด
4. ในกรณีต้องการใบรับรองแพทย์ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เมื่อแพทย์อนุญาตกลับบ้านได้

การปฏิบัติตัวเมื่อกลับบ้าน 

โดยปกติถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อน ท่านจะได้นอนโรงพยาบาลไม่ เกิน 10 วัน จากนั้นแพทย์จะให้กลับบ้านได้ เมื่อกลับบ้านท่านต้อง ปฏิบัติตัวดังนี้
1. ห้ามแกะเกาแผล 
2. ให้เดินหรือออกกำลังกายเพิ่มขึ้นที่บ้านภายใน 4 สัปดาห์ หลังผ่าตัดไม่ควรยกของหนักและไม่นั่งห้อยขา 
3. มาตรวจตามแพทย์นัดและตัดไหม คือประมาณ 2 สัปดาห์ หลังจำหน่ายและรับประทานยาตามแพทย์สั่ง อย่างเคร่งครัด
4. สังเกตอาการผิดปกติ ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น ดังต่อไปนี้ 
           – แผลแยก บวม แดงร้อน มีหนอง
           – มีเลือดออกจากแผลผ่าตัด
           –  มีไข้ 
           – เท้าข้างที่ผ่าตัดเย็นลง 
           – ปวดเท้า/ขาข้างที่ผ่าตัดมากกว่าหรือเท้าก่อนผ่าตัด

โรคหลอดเลือดโป่งพองที่ท้อง

โรคหลอดเลือดโป่งพองที่ท้อง

โรคนี้คืออะไร

 ปกติหลอดเลือดแดงจะนำเลือดจากหัวใจสู่อวัยวะต่างๆ ของร่างกาย หลอดเลือดโป่งพองเกิดจากการที่ผนังหลอดเลือดแดงเหล่านี้มีการอ่อนตัวลงความดันที่วิ่งอยู่ในหลอดเลือดจึงดันให้หลอดเลือดโป่งออกมาเหมือนลูกโป่ง หลอดเลือดที่มีการโป่งบ่อยที่สุดคือหลอดเลือดแดงใหญ่ที่อยู่ในท้องหรือที่เรียกว่า Aorta ซึ่งเป็นหลอดเลือดหลักในท้องของเราเรียกว่าเลี้ยงล่างกายท่อนล่างของเราทั้งหมดโดยชื่อที่เป็นทางการของโรคนี้ชื่อ Abdominal Aortic Aneurysm (AAA)

ภาพแสดงหลอดเลือดแดงโป่งพองในท้อง
วัดความกว่างได้กว่า 10 เซนติเมตร

อาการเป็นเช่นใด

                ผู้ป่วยสามารถมีอาการปวดท้อง คลำก้อนเต้นได้ในท้อง ปวดท้อง อาจจะถ่ายเป็นเลือด หรือถ้าหลอดเลือดโป่งพองนี้แตกก็อาจมีการเสียเลือดอย่างมาก หน้ามืดเป็นลม ช็อค อาจจะเสียชีวิตได้

การรักษา

                การรักษาสามารถทำได้โดยการเปิดท้อง และเข้าไปตัดบริเวณหลอดเลือดที่โป่งพองนั้นแล้วทดแทนด้วยหลอดเลือดพลาสติกเทียมเข้าไป ซึ่งการผ่าตัดนี้ถือว่าเป็นการผ่าตัดใหญ่ที่มีความเสี่ยงมาก  แต่ถึงอย่างไรก็ตามถ้าผู้ป่วยรอดพ้นจากการผ่าตัดก็สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ และมักจะอยู่ได้โดยไม่มีปัญหาอีกนานสำหรับหลอดเลือดที่ใส่ไว้ แต่ในปัจจุบันมีวิธีอีกวิธีหนึ่งในการรักษาโดยการใส่สายหลอดเลือดพลาสติกที่ขาหนีบเข้าไปทดแทนหลอดเลือดที่โป่งพอง โดยไม่ต้องเปิดท้องซึ่งการผ่าตัดดังกล่าวสามารถเลือกได้ในเฉพาะผู้ป่วยบางคนที่กายวิภาคของหลอดเลือดไม่ได้มีลักษณะบิด ขด งอมาก

ภาพการรักษาโรคหลอดเลือดแดงโป่งพอง
โดยใส่หลอดเลือดพลาสติกจากขาหนีบโดยที่ไม่ผ่าตัดเปิดท้อง

เมื่อไหร่จะผ่าตัด

                มักจะผ่าตัดเมื่อผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการแตกของหลอดเลือด ผู้ป่วยมีอาการดังกล่าวข้างต้นแล้ว เช่น ผู้ป่วยมีการปวดท้องมาก  หรือผู้ป่วยมีอาการแตกของหลอดเลือดแล้ว หรือในกรณีที่ไม่แตก และไม่มีอาการแต่คลำก้อนเต้นได้ในท้องเราจะถือขนาดมากกว่า  5.5 เซนติเมตร สมควรที่จะต้องผ่า

ควรไปปรึกษาแพทย์ท่านใด

                แพทย์ที่ทำการรักษาโรคนี้จะเป็นศัลยแพทย์หลอดเลือดหรือที่รู้จักว่าเป็น Vascular Surgeon หรือหมอผ่าตัดหัวใจ ท่านควรไปปรึกษาแพทย์ถ้าสงสัยว่ามีอาการดังกล่าว

 

โรคนี้จำเป็นต้องรับการรักษาที่โรงพยาบาล

การตรวจที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอก

1. แพทย์จะอธิบายถึงโรค การรักษา และการผ่าตัด โดยก่อนทำการผ่าตัด  ท่านต้องเซ็นต์ใบยินยอมผ่าตัด และยินยอมรับเลือด
2. ท่านจะได้รับการตรวจเลือด, เอ็กซเรย์ และตรวจ คลื่นไฟฟ้าหัวใจก่อนขึ้นบนตึกผู้ป่วย ถ้ามีความผิดปกติ แพทย์จะแก่ไขก่อนผ่าตัด
3. ท่านต้องนำยาเดิมที่ท่านรับประทานมาด้วยและ ให้แพทย์ดูทุกครั้ง

การนอนโรงพยาบาล  

หลังจากตรวจจากห้องผู้ป่วยนอก ท่านจะได้นอน โรงพยาบาลบนตึกผู้ป่วย โปรดแจ้งสิทธิการรักษาพยาบาล เช่น ใบส่งตัว  ข้าราชการ บัตรทอง ประกันสังคม  ให้เจ้าหน้าที่ห้องตรวจทราบก่อนเข้านอนโรงพยาบาล เพื่อให้ตรวจสอบสิทธิ์ให้เรียบร้อยก่อน

การบริจาคเลือด

การผ่าตัดจำเป็นต้องใช้เลือดจำนวนมากควรนำญาติมาบริจาคเลือดตั้งแต่ 7 คนขึ้นไป โดยให้ติดต่อที่หอผู้ป่วย เพื่อส่งไปบริจาคยังธนาคารเลือด

การปฏิบัติตัวก่อนผ่าตัด

1. วันก่อนผ่าตัดให้ทำความสะอาดร่างกาย สระผม ตัดเล็บให้สั้น เพื่อป้องกันการกระจายของเชื้อโรค ห้ามทาสีเล็บ(ถ้ามีดังต่อนี้ เช่น ประจําเดือน,ไข้หวัด แจ้งให้แพทย์ทราบด้วย)
2. ได้รับการตรวจเยี่ยมและคำแนะนำจากพยาบาลห้อง ผ่าตัดและแพทย์ดมยาสลบ จะมาเยี่ยมและประเมิน อาการเพื่อดูแลในห้องผ่าตัดได้ถูกต้อง
3. ท่านจะได้รับคำแนะนำจากพยาบาลประจำหอผู้ป่วย เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวก่อนและหลังผ่าตัด
4. ท่านจะได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับการออกกำลังกายก่อน และหลังผ่าตัดจานักกายภาพบำบัด
5. เวลาประมาณ 20.00 น. ท่านจะได้รับยาคลายเครียดซึ่ง ทำให้รู้สึกง่วงนอน ท่านต้องพักที่เตียงระมัดระวังเกิดอุบัติเหตุ
6. ท่านต้องงดน้ำและอาหารหลังเที่ยงคืน
7. ถ้าท่านมีประวัติโรคประจำตัวอื่น เช่น เบาหวาน หัวใจ จะมีแพทย์เฉพาะทางมาตรวจเยี่ยมและประเมิน อาการก่อนผ่าตัด

การปฏิบัติตัวในวันผ่าตัด

1. หลังจากได้รับการตรวจวัดสัญญาณชีพ แล้วควร อาบน้ำทำความสะอาดร่างกายอีกครั้งและเปลี่ยน เสื้อผ่าชุดใหม่ไม่สวมชุดชั้นในหรือเครื่องประดับ ใดๆ ควรให้ญาติเก็บเพราะอาจสูญหายได้
2. ท่านต้องงดน้ำและอาหารทุกชนิดทางปากจนกว่า จะได้รับการผ่าตัดและท่านจะได้รับการใส่น้ำเกลือ และยาคลายเครียดอีกครั้งก่อนผ่าตัดโดยให้ดื่มน้ำตามประมาณ 30 ซีซี
3. ก่อนเข้าห้องผ่าตัดท่านจะได้รับการเตรียมบริเวณ ผ่าตัดโดยการทำความสะอาดด้วยการทาน้ำยาฆ่าเชื้อบริเวณผิวหนังตั้งแต่บริเวณใต้ราวนมจนถึง ต้นขาเพื่อลดเชื้อโรค โดยเจ้าหน้าที่ประจำหอผู้ป่วย
4. ปัสสาวะก่อน ไปห้องผ่าตัด
5. เมื่อถึงเวลาผ่าตัดเจ้าหน้าที่ห้องผ่าตัดจะนำเปลมา รับเข้าห้องผ่าตัด
6. ขณะผ่าตัดท่านจะได้รับการดูแลจากทีมแพทย์ ผ่าตัด,พยาบาลและวิสัญญีแพทย์,วิสัญญีพยาบาล อย่างใกล้ชิด ใช้เวลาผ่าตัดอย่างน้อย 4 ชั่วโมง
7. เมื่อผ่าตัดเสร็จท่านจะได้รับการดูแลที่ห้องพักฟื้น 2 ชั่วโมง จากนั้นต้องได้รับการดูแลต่อที่ตึกศัลยกรรม ผู้ป่วยหนักทั่วไป ถ้าอาการปกติดีจึงย้ายขึ้นตึกผู้ป่วยเดิม

การปฏิบัติตัวหลังผ่าตัด 

1.    ท่านสามารถออกกำลังกายได้ โดยจะมีทีมนักกายภาพบำบัดมาให้คำแนะนำ
2. ภายหลังการผ่าตัดอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน  เช่น ท้องอืด ปวดบวมเฉพาะที่ ปวดแผลผ่าตัด การเกิด ลิ่มเลือดที่ขาได้ ดังนั้น ท่านสามารถป้องกันโดยเมื่อ รู้สึกตัว และเอาท่อช่วยหายใจออกควรพลิกตะแคง ตัว ออกกำลังกายและไออย่างมีประสิทธิภาพตาม คำแนะนำของนักกายภาพบำบัดและพยาบาล
3. ขณะเคลื่อนไหวควรใช้มือประคองแผลเพื่อช่วยลดอาการปวด ถ้ามีอาการปวดแผลมาก ควรแจ้งพยาบาลเพื่อจะได้รับยาแก้ปวด
4. ในกรณีต้องการใบรับรองแพทย์ควรแจ้งให้แพทย์ ทราบเมื่อแพทย์อนุญาตกลับบ้านได้

การปฏิบัติตัวเมื่อกลับบ้าน

โดยปกติถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อน ท่านจะได้นอน โรงพยาบาลไม่เกิน 10 วัน จากนั้นแพทย์จะให้กลับบ้าน ได้ เมื่อกลับบ้านท่านต้องปฏิบัติตัวดังนี้
1. ห้ามแกะเกาแผล
2. ให้เดินหรือออกกำลังกายเพิ่มขึ้นที่บ้านแต่ 4 สัปดาห์หลังผ่าตัดไม่ควรยกของหนัก, 6 สัปดาห์ หลังผ่าตัดไม่ควรออกกำลังกายที่หดเกร็งหน้าท้อง
3. มาตรวจตามแพทย์นัดและตัดไหม คือประมาณ 2 สัปดาห์หลังจำหน่ายและรับประทานยาตามแพทย์ สั่งอย่างเคร่งครัด
4. สังเกตอาการผิดปกติ ,ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น ดังต่อไปนี้
– แผลแยก บวม แดงร้อน มีหนอง
– มีเลือดออกจากแผลผ่าตัด – รับประทานอาหารไม่ได้หรือได้น้อย
– มีถ่ายเป็นเลือด/ถ่ายดำ
5. ท่านต้องติดต่อกลับมายังหอผู้ป่วยที่จำหน่ายภายในวันที่ 15 หลังผ่าตัด เพื่อแจ้งอาการของท่านข้อ 4.แต่ถ้ามี อาการผิดปกติก่อน ท่านสามารถโทรแจ้ง หรือ มาตรวจก่อนวันนัดได้ตึกผู้ป่วยที่ท่านจำหน่ายหรือที่คลินิก

คลินิกหมอกิตติพันธุ์-หมออมราภรณ์ 111/66  หมู่ 2 ต.หนองหอย   อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50000
โทรศัพท์คลินิก 053-413 066 โทรศัพท์มือถือ 085-866 8484
เพิ่มเพื่อน Line @kittipan.clinic
Email: [email protected]